วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

โรคหัวใจและหลอดเลือดคือโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวอันดับ 1 ของคนไทย

เตือนภัย "โรคหัวใจและหลอดเลือด"

โรคหัวใจและหลอดเลือดหมายรวมถึง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดตีบหรือแตก เป็นโรคที่บ่อนทำลายชีวิตและสุขภาวะของคนไทยมากกว่าครึ่งแสนในแต่ละปี

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรคหัวใจและหลอดเลือดคือโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวอันดับ 1 ของคนไทย โดย ร้อยละ 2 8 ป่วยด้วยโรคดังกล่าว และเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยรวมมากกว่าปีละ 65,000 คนซ้ำยังมีผลสำรวจพบผู้ที่ยังไม่ปรากฏอาการ แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวพันต่อการเกิดโรคนี้ในอนาคตอีกจำนวนมาก

จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 อันเป็นครั้งล่าสุด พบข้อมูลที่ส่งสัญญาณเตือนว่าโรคนี้น่าจะยังรั้งตำแหน่งโรคร้ายที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยไปอีกพักใหญ่ เพราะพบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคแฝงอยู่ในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก ทั้งเรื่องของการสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง มีอาการเบาหวาน คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง การมีเส้นรอบเอวหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ


ข้อมูลสำคัญอันน่ารู้ที่เกี่ยวพันกับความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการสำรวจครั้งนี้
ได้แก่
• ผู้ชายไทยเกือบครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่เป็นประจำ

• ผู้ชายมีความดันโลหิตสูงกว่าผู้หญิง

• พบอาการเบาหวาน ระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง และการทำกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอจนน้ำหนักและเส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

• ผู้ชายที่อยู่ในกรุงเทพฯ พบภาวะเสี่ยงจากอาการเบาหวานมากกว่าผู้ชายในภาคอื่นถึง 2 เท่า

• คนกรุงเทพฯ มีระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าคนอีสานประมาณ 3 เท่า• มีคนจำนวนไม่น้อยที่พบปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 4 ปัจจัยรวมอยู่ในตัวคนๆ เดียว โดยพบในคน
กรุงเทพฯ มากที่สุด (ร้อยละ 3) รองลงมาคือ ภาคกลาง (ร้อยละ 2 .1) ภาคใต้(ร้อยละ 1.5) ภาคเหนือ (ร้อยละ 1.1) และอีสาน (ร้อยละ 0.8) ตามลำดับ

การลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ต้องดำเนินการทั้งด้านมาตรการรัฐ และการปฏิบัติตัวของเราแต่ละคนควบคู่กัน ได้แก่มาตรการรัฐ
- การจัดการด้านนโยบายที่เกี่ยวกับอาหารและการบริโภคของประชาชน
- การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ
- การพัฒนาคุณภาพบริการทางด้านสุขภาพการปฏิบัติระดับบุคคล
- กินผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารขนม ผลไม้ที่มีรสหวาน
- ไม่สูบบุหรี่
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น
- ฝึกจิตใจให้ผ่อนคลายความเครียดแม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่คุณทำได้แน่ หากตั้งใจจริงว่าอยากมีสุขภาพดีไปนานๆ
การลดปัจจัยเสี่ยงร่วมเหล่านี้ลง จะทำให้ลดการป่วยหรือเสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ได้

ที่มา : ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย นพ.วิชัย เอกพลากร ใน รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ.2550